วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2564

เสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า ระวัง “ไฟช็อต vs ไฟดูด”

 ดังที่มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง โพสต์ภาพสะพานลอยคนข้าม บริเวณปากซอยบรมราชชนนี 68 เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ให้เห็นว่าบนสะพานลอยมีป้ายเตือนว่า “จับราวบันได ระวังไฟฟ้าช็อต (ไฟดูด)” พร้อมด้วยภาพสายไฟฟ้า สารสื่อสาร พาดระโยงระยางพันกันกับราวจับสะพานลอย ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจทำให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนที่ใช้สะพานลอย

แต่การแขวนป้ายเตือนไว้ก็ไม่น่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหา ทำไมจึงไม่แก้ไขสายไฟที่ระโยงระยางนั้น ทั้งที่สะพานลอยเป็นสาธารณูปโภคที่ภาครัฐต้องจัดทำเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชน

ป้ายที่ระบุว่า ระวังไฟฟ้าช็อต (ไฟดูด) นี้ อาจทำให้คนอาจสงสัยว่า “ไฟช็อต” กับ “ไฟดูด” เหมือนหรือต่างกัน เพราะวิธีการใช้เครื่องหมายวรรคตอนอย่างวงเล็บนี้ ใช้สำหรับขยายหรืออธิบายความที่อยู่ข้างหน้า หรือใช้ขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อลดความกำกวม ดังนั้น ป้ายที่ระบุว่า “ระวังไฟฟ้าช็อต (ไฟดูด)” เท่ากับว่าคำว่า “ไฟดูด” กำลังขยายหรืออธิบายเพิ่มเติมคำว่า “ไฟช็อต”

ไฟดูดคืออะไร

ไฟดูด เป็นอันตรายที่เกิดขึ้นด้วยเหตุไฟรั่ว จากวงจรไฟฟ้าไปยังส่วนโลหะของอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ แล้วหลังจากนั้นร่างกายของคนก็ไปสัมผัสส่วนที่มีกระแสไฟฟ้าวิ่งอยู่เข้า ทำให้กระแสไฟฟ้านั้นไหลผ่านร่างกายลงสู่พื้นดิน ทำให้กล้ามเนื้อภายในร่างกายได้รับความเสียหายจากการที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่าน มีอาการเกร็ง มีแผลไหม้ ชัก หมดสติ หากไหลผ่านหัวใจ หัวใจจะทำงานผิดจังหวะ เต้นอ่อนลง และอาจหยุดเต้น เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด

ไฟรั่ว เป็นอาการที่กระแสไฟฟ้ารั่วไหลจากวงจรไฟฟ้าสู่ภายนอก เช่น จากผิวของสายไฟ จากโลหะของเครื่องใช้ไฟฟ้า เกิดได้จากในหลากหลายสาเหตุ เช่น การเดินระบบไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน การใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพ ลักษณะของการสัมผัส เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไปสัมผัสโดนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่ในสภาพชำรุด แตกหัก ฉนวนชำรุด หรือเปียกน้ำ จึงทำให้กระแสไฟฟ้าถ่ายโอนมาสู่คนแล้วพยายามไหลผ่านลงดิน

ไฟช็อตคืออะไร

ไฟช็อต หรือก็คือ ไฟฟ้าลัดวงจร เกิดจากการที่กระแสไฟฟ้าจากสายไฟเส้นหนึ่งไหลผ่านไปหาอีกเส้นหนึ่งโดยไม่ผ่านอุปกรณ์โหลด หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าใด ๆ เลย สาเหตุมาจากจากฉนวนไฟฟ้าที่ชำรุด หรือแตะกันโดยบังเอิญ ทำให้การไหลเวียนของไฟฟ้าผิดปกติ ตัวนำไฟฟ้า 2 จุดที่ถ่ายเทพลังงานจำนวนมากหากัน ทำให้เกิดความร้อนสูงในจุดที่มีการลัดวงจร และอาจเกิดประกายไฟขึ้น

ไฟช็อต มักจะมีสาเหตุมาจากการที่อุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด เช่น สายไฟ ฉนวนสายไฟ หรือใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่มีมาตรฐาน ปัญหาใหญ่ของไฟช็อตคือทำให้เกิดไฟไหม้ได้

ไฟช็อต vs ไฟดูด

ไฟช็อตกับไฟดูดนั้นแตกต่างกัน ไฟดูดจะเป็นลักษณะอาการที่เกิดขึ้น เมื่อร่างกายไปสัมผัสส่วนที่มีไฟฟ้า ทำให้เกิดการถ่ายโอนกระแสไฟฟ้าที่ไหลจากแหล่งกำเนิดนั้นผ่านตัวคน และกลับไปหาแหล่งกำเนิดไฟฟ้าผ่านทางดิน ส่วนไฟช็อต คือการที่ไฟฟ้าลัดวงจร แล้วถ่ายโอนกระแสไฟฟ้าระหว่างกันจนเกิดความร้อนสูง จนอาจทำให้เกิดประกายไฟ แล้วสิ่งที่ตามมาได้จากไฟช็อต คือ เหตุอัคคีภัย (ไฟไหม้) แต่ไฟดูดไม่ทำให้เกิดไฟไหม้

นอกจากนี้ ไฟช็อตกับไฟดูด ตามความหมายของช่างไฟก็ต่างกัน ช่างไฟจะเรียกไฟช็อตก็คือเห็นเป็นประกายไฟ แต่ถ้าไฟดูดจะเกิดกับคน เช่นเดียวกับความหมายภาษาอังกฤษ ไฟช็อต (ไฟฟ้าลัดวงจร) = Short circuit ส่วนไฟดูด = Electric shock

อันตรายจากไฟฟ้า ก่อให้เกิดความเสียหายได้ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น ไม่ว่าจะไฟช็อตหรือไฟดูด ก็เป็นเหตุที่ไม่ควรเกิดขึ้น ซึ่งมีวิธีป้องกันการเกิดเหตุไฟช็อตไฟดูดได้ ดังนี้

  • หมั่นตรวจสอบสายไฟอยู่เสมอว่ามีการชำรุดหรือไม่
  • ตรวจเช็กเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่เสมอว่าชำรุด หรือมีไฟรั่วหรือไม่
  • ติดตั้งสายดินและระบบตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากไฟฟ้าได้ เพราะไฟฟ้าที่รั่วออกมาจะถูกตรวจสอบโดยอุปกรณ์นี้ และตัดกระแสไฟฟ้าทันทีเมื่อมีการลัดวงจร ส่วนสายดินจะช่วยนำกระแสไฟฟ้าที่รั่วไหลให้ไหลลงดินไป ผู้ที่จับอุปกรณ์ไฟฟ้านี้เข้าจะไม่ถูกไฟดูด

กรณีน่ารู้ ล้อมรั้วบ้านปล่อยกระแสไฟฟ้ากันขโมย หากไฟดูดคนมีความผิดหรือไม่

ในกรณีที่บ้านมีการล้อมรั้วแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าตามขดลวด เพื่อป้องกันผู้บุกรุกและป้องกันทรัพย์สินนั้น จะมีความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย

Facebook ทนายเจมส์ LK อธิบายว่า ในกรณีที่มีหลักฐานชัดเจนว่า ผู้ที่ถูกไฟดูดจนได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตายนั้นเป็นผู้ที่บุกรุกเข้ามาในพื้นที่ที่ป้องกันไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีเจตนาเข้ามาขโมยทรัพย์สินภายในพื้นที่ เจ้าของพื้นที่สามารถอ้างเหตุป้องกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 หรืออาจเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ตามมาตรา 69 ได้ แล้วแต่กรณี

แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาภายในพื้นที่ได้ (ไม่ได้มีเจตนาบุกรุก) เจ้าของพื้นที่อาจได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 297 หรือ 290 แล้วแต่กรณี

ที่มา:sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น